วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สูตรอาหารอร่อยๆที่ทำจากเม็ดแมงลัก

วุ้นเมล็ดแมงลัก
ส่วนผสม
1.เมล็ดแมงลัก 2 ช้อนตวง
2.น้ำ 6 ถ้วย
3.น้ำตาลทราย 2 ถ้วย
4.กลิ่นมะลิ 1 ช้อนชา
5.วุ้นผง 3 ช้อนตวง
6.น้ำสำหรับแช่ 2 ถ้วย
วิธีทำ
1.เทวุ้นใส่กระทะทองเหลือง หรืออ่างสแตนเลส ใส่น้ำและน้ำตาลทรายลงคนด้วยพายไม้ ให้วุ้นและน้ำตาลทรายละลาย
2.ยกขึ้นตั้งไฟ โดยใช้พายไม้คนจนกระทั้งกระทะเดือด ปล่อยให้เดือดต่อไปอีก 1 นาที ยกลงจากเตา หยดกลิ่นมะลิ
3.แช่เมล็ดแมงลักกับน้ำ จนเมล็ดแมงลักพองพอดี เทใส่กระชอนเทน้ำทิ้งไป ให้เหลือแต่เมล็ดแมงลัก แล้วใส่ลงไปในวุ้นที่เคี่ยวไว้
4.ตักวุ้นใส่พิมพ์ให้เต็ม พักไว้ให้เย็นจึงแคะออกจากพิมพ์
*สามารถใส่กลิ่นและน้ำหวานสีต่างๆ เพื่อให้ได้วุ้นหลายสี

เมล็ดแมงลักหวานเย็น

ส่วนผสม
1.เมล็ดแมงลักแช่น้ำ 1/4 ถ้วย
2.ถั่วแดงหลวงเชื่อม 1/4 ถ้วย
3.ข้าวเหนียวมูน 1/4 ถ้วย
4.ถั่วละสงคั่ว 3 ช้อนโต๊ะ
5.ขนมปังหัวกระโหลกหั่นขนาด 1/2 นิ้ว 3 แผ่น
6.น้ำแข็งใส 4 ถ้วย
7.ลูกชิด 1/4 ถ้วย
8.แห้วเชื่อม 1/4 ถ้วย
9.ข้าวโพดต้ม 1/4 ถ้วย
10.นมข้นหวาน 3 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
1.ปิ้งขนมปังหัวกระโหลกให้เหลืองและกรอบเล็กน้อย ตัดเป็นชิ้นพอคำ ใส่จานเตรียมไว้ 
2.ใส่ขนมปังปิ้งลงในถ้วย ใส่น้ำแข็งใส ราดด้วยเมล็ดแมงลักแช่น้ำ ลูกชิด ข้าวเหนียวมูน ถั่วลิสงคั่ว แห้วเชื่อม ข้าวโพด และถ้่วแดงราดน้ำแดง  พร้อมด้วยนมข้นหวาน  

---------------------------------

ลักษณะและวิธีทำรับประทานเม็ดแมงลัก

ลักษณะเมล็ดแมงลัก


เมล็ดแมงลักสีดำๆนี้ คล้ายเมล็ดงาดำ แต่มีขนาดเล็กกว่า เป็นเมล็ดที่มีลักษณะเหมือนไข่กบเมื่อเวลาถูกน้ำ  มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก สำหรับคนที่มีปัญหาท้องผูก เพราะเมล็ดแมงลักนี้มีสรรพคุณเป็นยาระบายตามธรรมชาติ แถมยังหาได้ทั่วไป ถ้าเรารับประทานเมล็ดแมงลักที่พองตัวแต็มที่จะทำให้การขับถ่ายสะดวก เพราะเมล็ดแมงลักมีลักษณะเมือกขาวทำให้ลื่น ทำให้ของเสียที่ขับถ่ายออกมาจะไม่เกาะค้างที่ลำใส้
กินอยู่อย่างธรรมชาติเพื่อร่างกายที่สมบูรณ์

เมล็ดแมงลักเป็นอาหารที่มีเส้นใยสูง ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันอาการท้องผูก และช่วยหล่อลื่นทางเดินอาหาร มีคุณสมบัติลดการซึมน้ำตาลและไขมัน นิยมใช้เป็นอาหารสำหรับผู้ต้องการลดน้ำหนัก เมล็ดแมงลักที่มีคุณภาพต้องคัดจากไร่ที่อุดมสมบูรณ์ของไทย ผ่านกระบวนการคัดแยกผลิต และบรรจุที่สะอาดปลอดภัย คงคุณค่าอาหารเสริมจากธรรมชาติ

วิธีรับประทานเมล็ดแมงลัก

ใช้ปรุงอาหารและขนมได้หลากหลายชนิด สามารถรับประทานได้ทั้งร้อนและเย็น เมล็ดแมงลักที่พองตัวเต็มที่แล้ว สามารถนำไปผสมน้ำหวานใส่น้ำแข็งรับประทาน หรือนำไปเป็นส่วนประกอบของขนมหวาน เช่น วุ้น ไอศครีม และยังเหมาะกับการใช้เป็นส่วนประกอบกับเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพประเภทร้อนเช่น น้ำเต้าหู้ เป็นต้น 

วิธีทำอาหารด้วยเมล็ดแมงลัก

การจะรับประทานเมล็ดแมงลักมีวิธีการทำที่ง่ายๆ คือ ตักเมล็ดแมงลัก 1-2 ช้อนชา ล้างน้ำให้สะอาดและตักใส่ลงในน้ำสุกอุ่น 1 แก้ว จนพองตัวเต็มที่ แล้วควรคนให้เสม่ำเสมอ เพื่อให้เมล็ดได้ถูกน้ำทั่วๆกัน ทิ้งไว้อย่างน้อย 30 นาทีก่อนรับประทาน และที่สำคัญต้องเติมน้ำให้เพียงพอ กับปริมาณเมล็กแมงลักที่ใช้ ้เพราะถ้าใช้น้ำน้อยไปก็จะทำให้ท้องอืดได้ หรือจะใช้วิธีง่ายๆ คือล้างเมล็ดแมงลักให้สะอาด นำมาแช่ในน้ำอุ่น เมื่อพองตัวแล้วจึงสามารถนำมาชงหรือดื่มเพื่อบริโภคได้ 

ข้อแนะนำและการเก็บรักษาเมล็ดแมงลัก

-เมล็ดแมงลักต้องแช่น้ำให้พองตัวเต็มที่ก่อนนำมารับประทาน
-บรรจุภัณฑ์ควรอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ไม่ฉีกขาดหรือมีรอบรั่วก่อนการเปิดบริโภค 
-เก็บไว้ในที่แห้งและเย็น หลีกเลี่ยงแสงแดดและความร้อนหรือพท้นที่อับชื้น
-เมื่อเปิดบรรจุภัณฑ์หากใช้ไม่หมด ควรปิดบรรจุภัณฑ์ให้สนิทหรือถ่ายใส่ภาชนะที่แห้ง
-ผลผลิตทางการเกษตร เพาะปลูกตามธรรมชาติ ขนาดเมล็ดและรสชาติ อาจมีความแตกต่างตามฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง

---------------------------------

วันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สรรพคุณและประโยชน์ทางสมุนไพรของแมงลัก

สรรพคุณของเม็ดแมงลัก :


ลำต้น : ตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำดื่ม เป็นยาแก้หวัด แก้หลอดลมอักเสบ และแก้โรคทางเดินท้องร่วง หรือใช้กากใบที่ตำทาแก้โรคผิวหนังทุกชนิดใช้ลำต้นสด นำมาต้มเอาน้ำดื่ม เป็นยาแก้ไอ ขับเหงื่อ ขับลม กระตุ้น และแก้โรคทางเดินอาหาร เป็นต้น
ใบ : ใช้ลำต้นสด นำมาต้มเอาน้ำดื่ม เป็นยา แก้ไอ ขับเหงื่อ ขับลม กระตุ้น และแก้โรคทางเดินอาหาร ใช้ใบสด นำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำกิน เป็นยาแก้หวัด แก้หลอดลมอักเสบ แก้โรคท้องร่วง หรือใช้กากใบที่ตำทาแก้โรคผิวหนังทุกชนิด
เมล็ด : ใช้เมล็ดแห้ง เมื่อนำมาแช่น้ำจะเกิดการพองตัวแล้วใช้กินเป็นยาระบาย ลดความอ้วน ช่วยดูดซึมน้ำตาลในเส้นเลือด ขับเหงื่อ และช่วยเพิ่มปริมาณ ของอุจจาระเป็นเมือกกลืนในลำไส้
ประโยชน์ทางสมุนไพรของเม็ดแมงลัก 
ตำรายาไทยมักเรียกผลแมงลักว่าเม็ดแมงลัก ใช้เป็นยาระบายชนิดเพิ่มกาก เพราะเปลือกผลมีสารเมือกซึ่งสามารถพองตัวในน้ำได้ 45 เท่า เหมาะสำหรับ ผู้ที่ไม่ชอบกินอาหารที่มีกากเช่น ผัก ผลไม้ ใช้ผลแมงลัก 1-2 ช้อนชา แช่น้ำ แก้ว จนพองตัวเต็มที่ กินก่อนนอน ถ้าผลแมงลักพองตัวไม่เต็มที่จะทำให้ท้องอืดและอุจจาระแข็ง จากการทดลองพบว่าแมงลักทำให้จำนวนครั้งในการถ่ายและปริมาณอุจจาระเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้อุจจาระอ่อนตัวกว่าปกติ นอกจากนี้ใบและต้นสดมีฤทธิ์ขับลม เนื่องจากมีน้ำมันหอมระเหย
---------------------------------

คุณค่าทางโภชนาการของเม็ดแมงลัก


      การใช้ประโยชน์จากเม็ดแมงลัก

      แมงลัก ใบใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร เช่น ห่อหมก แกงเลียง อ่อม แกงคั่ว ขนมจีนน้ำยา พบมากในอาหารอีสาน เมล็ดแชน้ำให้พอง ใช้ทำขนมหรือรับประทานกับน้ำแข็งไส ไอศกรีม ใบมีฤทธิ์ขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืด ช่วยย่อยอาหาร เมล็ดช่วยย่อยอาหาร เป็นยาระบาย สกัดน้ำมันหอมระเหยจากใบไปใช้ในอุตสาหกรรมสบู่และเครื่องสำอาง 

                เม็ดแมงลัก ช่วยขับคอเลสเตอรอลไม่ดีออกจากร่างกาย โดยเส้นใยของแมงลักจะดูดซับไขมันไว้ เมื่อร่างกายไม่สามารถย่อยกากใยพวกนี้ได้ ไขมันไม่ดี (LDL-cholesterol) ก็จะถูกขับออกมาพร้อมกับเส้นใยของแมงลัก แต่ไม่มีผลใด ๆ ต่อ HDL-cholesterol ที่เป็นไขมันดี ดังนั้นการรับประทานเม็ดแมงลักเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจด้วย

              เม็ดแมงลัก มีลักษณะนิ่ม ลื่น กลืนง่าย เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาช่วงลำคอ และการที่เม็ดแมงลักพองตัวมาก ทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ช้าลง จึงเหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลลดลงด้วย

              เม็ดแมงลัก มีสรรพคุณเป็นยาระบาย เนื่องจากบริเวณเปลือกนอกของเม็ดเป็นสารเมือกขาว และยังมีกากอาหาร ทำให้อุจจาระไม่เกาะลำไส้ ซึ่งช่วยให้ผู้รับประทานสามารถขับถ่ายได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยเม็ดแมงลักจะไปกระตุ้นประสาทที่อยู่รอบ ๆ ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ทำให้เกิดปวดท้องหนัก

              เม็ดแมงลัก มีสรรพคุณในการควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากเม็ดแมงลักไม่ก่อให้เกิดพลังงาน และสามารถพองตัวได้ถึง 45 เท่า ดังนั้นเมื่อนำมารับประทานก่อนอาหารก็จะช่วยให้รู้สึกอิ่มท้อง และสามารถควบคุมปริมาณอาหารที่รับประทานได้เป็นอย่างดี
    ---------------------------------

วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2557

คุณสมบัติทางยาของแมงลักที่มีใช้ในประเทศไทย

แมงลัก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ocimum citriodorum วงศ์  Labiatae
ชื่อสามัญ Hoary Basil, Lemon Basil, Thai Lemon Basil ชื่ออื่น ก้อมก้อขาว

แมงลัก
 เป็นพืชล้มลุกในสกุลกะเพรา-โหระพา ลักษณะของต้นแมงลักจะคล้ายต้นกะเพรา ต่างกันที่กลิ่น และใบจะมีสีเขียวจางกว่าใบกะเพรา

แมงลักมีลำต้นสูงประมาณ 65 เซนติเมตร มีกลิ่นหอมทุกส่วน ใบเป็นใบเดี่ยวทรงรีหรือรูปหอกหรือรี ขอบใบเรียบ บ้างมีขอบหยักมน มีกลิ่นหอมคล้ายมะนาวฝรั่ง

ดอกออกช่ออยู่ปลายยอด ช่อดอกจะออกเรียงเป็นชั้นๆ กลีบดอกมีสีขาวออกเป็นวงรอบก้าน ผลจะเป็นผลชนิดแห้ง ภายในมี 4 ผลย่อย เรียกว่า เมล็ดแมงลัก ใบแมงลักใช้กินสด ใส่สลัดผัก ประดับจานอาหาร ส่วนมากในประเทศไทยจะกินกับขนมจีน หรือใส่แกงเลียงและแกงต่างๆ

ผลที่คนไทยเรียกว่าเมล็ดแมงลักใช้ทำขนมน้ำแข็งไส ใส่ไอศกรีม ใส่น้ำเต้าหู้ หรือใส่ในวุ้น และใช้เป็นยาระบายชนิดเพิ่มกาก ใบแมงลักมีน้ำมันหอมระเหยราวร้อยละ 0.7 น้ำมันหอมระเหยที่เป็นส่วนประกอบหลักคือซิทรัล (citral) ต่างประเทศใช้ใบแมงลักแต่งกลิ่นอาหาร เนื่องจากมีกลิ่นมะนาวจึงมักใช้แต่งกลิ่นอาหารจำพวกปลาและไก่ในอาหารฝรั่ง ที่สหรัฐอเมริกาปลูกแมงลักเป็นไม้ประดับและใช้ใบแห้งประกอบบุหงาสำหรับสุคนธบำบัด

ใบแมงลัก 100 กรัม มีสารอาหารสำคัญดังนี้
แคลเซียม                                350 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส                                  86 มิลลิกรัม
เหล็ก                                        4.9 มิลลิกรัม
วิตามินเอ                           10,666 มิลลิกรัม
ไทอามีน                                0.30 มิลลิกรัม
ไรโบฟลาวิน                          0.14 มิลลิกรัม
ไนอาซิน                                  1.0 มิลลิกรัม
วิตามินซี                                   78 มิลลิกรัม
เส้นใยอาหาร                           2.6 กรัม
คาร์โบไฮเดรต                       11.1 กรัม
ไขมัน                                       0.8 กรัม
โปรตีน                                     2.9 กรัม
พลังงาน                                    32 แคลอรี 
คุณสมบัติทางยาของแมงลักที่มีใช้ในประเทศไทย
ขับลมในลำไส้ 
 อาหารไม่ย่อย อาการอึดอัด แน่นไม่สบายท้อง ให้นำต้นและใบแมงลักต้มน้ำดื่ม
ขับเหงื่อ เมื่อมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่ค่อยสบาย นำต้นและใบแมงลักต้มน้ำดื่ม
บรรเทาอาการหวัด   อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หลอดลมอักเสบ ใช้ใบแมงลัก 1 กำมือล้างสะอาด โขลกคั้นน้ำดื่ม 1 ถ้วยตะไลบรรเทาอาการดังกล่าว สำหรับกรณีของหลอดลมอักเสบให้คั้นน้ำดื่ม 1 ถ้วยตะไล 3 เวลาเช้า-กลางวัน-เย็น
บรรเทาอาการผื่นคัน พิษจากพืช พิษสัตว์กัดต่อย หรืออาการคันจากเชื้อรา ใช้ใบแมงลักสดโขลกพอกบริเวณที่มีอาการ และเปลี่ยนยาบ่อยๆ
แก้ท้องร่วงท้องเสีย  ใบแมงลักสัก 2 กำมือ ล้างสะอาด โขลกบีบคั้นน้ำดื่ม แก้ท้องร่วงได้
เพิ่มน้ำนมแม่ ให้แม่ที่ให้นมลูกกินแกงเลียงหัวปลี ใส่ใบแมงลัก และให้ลูกดูดหัวน้ำนมบ่อยๆ เพิ่มการสร้างน้ำนมแม่
บำรุงสายตา ใบแมงลักมีวิตามินเอสูง การกินใบแมงลักเป็นประจำช่วยบำรุงสายตา
บำรุงเลือด แก้โลหิตจาง  ใบแมงลักอุดมด้วยธาตุเหล็กช่วยบำรุงโลหิต
เสริมสร้างกระดูก  ใบแมงลักมีแคลเซียมสูงช่วยบำรุงกระดูก
เป็นยาระบาย ใช้เมล็ดแก่ของแมงลัก สัก 1 ช้อนชาแช่น้ำ 1 แก้ว ปล่อยให้พองตัวดีแล้ว เติมน้ำตาลเล็กน้อย ดื่มแก้ท้องผูก แนะนำให้ใช้กับหญิงตั้งครรภ์และแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง ที่ไม่ต้องการภาวะท้องผูกเพราะเป็นการแก้ปัญหาแบบธรรมชาติ
ใช้ลดความอ้วน  เปลือกผล (ที่เรียกเมล็ดแมงลัก) มีสารเมือกซึ่งสามารถพองตัวในน้ำได้ 45 เท่า เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบกินอาหารที่มีกาก ใช้ผลแมงลัก 1-2 ช้อนชาแช่น้ำ 1 แก้ว ทิ้งไว้จนพองตัวเต็มที่ กินก่อนมื้ออาหารครึ่งชั่วโมง ดื่มน้ำตาม ช่วยให้กินอาหารได้น้อยลง ลดปริมาณพลังงานอาหาร ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัว จำนวนครั้งในการขับถ่ายและปริมาณอุจจาระเพิ่มขึ้น ลดอาการท้องผูกด้วย

ข้อควรระวังการใช้แมงลัก
 ถ้าใช้เมล็ดแมงลักที่ยังพองตัวไม่เต็มที่ จะทำให้มีการดูดน้ำจากลำไส้เกิดอาการขาดน้ำ และอาจเกิดอาการลำไส้อุดตันได้ (โดยเฉพาะแมงลักที่บดเป็นผง) รวมถึงที่ต่างประเทศใช้ใบแมงลักบรรเทาอาการไอ ขับเหงื่อ และขับลม

การศึกษาทางเภสัชวิทยาและทางการแพทย์
ฤทธิ์เป็นยาระบาย การศึกษาในสัตว์ทดลอง
   เมื่อป้อนเมล็ดแมงลัก ขนาด 37.5 มก./กก. ละลายน้ำให้พองตัว ให้หนูขาวและหนูถีบจักร  จะมีผลทำให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวเทียบเท่ากับการให้หนูกินยาถ่าย metamucil ขนาด 300 มก./กก.

การทดลองทางคลินิก มีการทดลองใช้เมล็ดแมงลัก โดยใช้ปริมาณ 2 ช้อนชา ผสมน้ำ 240 มล. หรือประมาณ 1 แก้ว ให้ผลเป็นยาระบายในคนปกติเช่นเดียวกับ psyllium 2 ช้อนชา โดยมีผลที่น่าสนใจคือ  เพิ่มจำนวนครั้งในการถ่าย  เพิ่มปริมาณอุจจาระ  ทำให้อุจจาระอ่อนตัวกว่าปกติ จากการศึกษาจะพบว่าเมล็ดแมงลักสามารถใช้เป็นยาระบายได้ดี

นอกจากนี้ ยังมีการทดลองกับผู้ป่วยที่จะได้รับการผ่าตัดต่อมลูกหมากและนิ่วในไต โดยให้กินยาระบายเมล็ดแมงลัก (เมล็ดแมงลักบดเป็นผง) ขนาดครึ่งถึง 1 ช้อนชา และ 1 ช้อนชาครึ่ง ในน้ำ 150 มิลลิลิตร 3 ครั้งหลังอาหาร/วัน และหลังการผ่าตัด เป็นเวลา 3-8 วัน  และกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับเมล็ดแมงลัก พบว่าสัดส่วนอาการท้องผูกหลังการผ่าตัดของผู้ป่วยกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับ เมล็ดแมงลักเท่ากับร้อยละ 80.6

ขณะที่กลุ่มที่ได้รับเมล็ดแมงลักมีสัดส่วนของอาการท้องผูกเท่ากับร้อยละ 13.3, 31.6 และ 10.5  ตามลำดับ จากการทดลองจะเห็นว่าเมล็ดแมงลักสามารถลดอาการท้องผูกของผู้ป่วยหลังผ่าตัดได้

ฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน 
งานวิจัยจากอินเดีย ปี พ.ศ.2551 รายงานการพบสารโพลีฟีนอลหลายชนิดในใบแมงลัก สารดังกล่าวคือกรดโรสมารินิก กรดลิโทสเปอมิก กรดวานิลิก กรดคูมาริก กรดไฮดรอกซีเบนโซอิก กรดซีริงจิก กรดกาเฟอิก กรดเฟอรูลิก กรดซินามิก กรดไฮดรอกซีฟีนิลแล็กติก และกรดซินาปิก

สารสกัดใบแมงลักแสดงฤทธิ์ต้านออกซิเดชันในหลอดทดลองได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันมีงานวิจัยของไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากแมงลัก มีการทดลองใช้มิวซิเลจ (สารเมือก) จากเมล็ดแมงลักเป็นสารให้ความคงตัวแทนกัวร์กัมในการผลิตไอศกรีมกล้วยหอม พบว่าเมื่อปริมาณของมิวซิเลจจากเมล็ดแมงลักเพิ่มขึ้นไอศกรีมจะมีความหนืดสูงขึ้น เมื่อนำมาทดสอบทางประสาทสัมผัสเปรียบเทียบกับไอศกรีมกล้วยหอมสูตรมาตรฐานที่ใช้กัวร์กัมเป็นสารให้ความคงตัว พบว่าสูตรที่ใช้มิวซิเลจจากเมล็ดแมงลักร้อยละ 0.5 มีเนื้อสัมผัส การละลายในปากและความชอบโดยรวมสูงกว่า และมีปริมาณเส้นใยสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แปลว่าไอศกรีมสารเมือกเมล็ดแมงลักอร่อยกว่าไอศกรีมที่ทำจากกัวร์กัม และมีคุณค่าอาหารสูงกว่าด้วย
---------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประโยชน์และข้อควรรู้ของเม็ดแมงลัก

เม็ดแมงลัก มาจากต้น แมงลัก (Lemon basil) หรือชื่ออื่นๆคือ Hoary Basil และ Hairy Basil มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ocimum × citriodourum ซึ่งเป็นพืชล้มลุกในสกุลกะเพราและโหระพาลักษณะของต้นจะคล้ายกับต้นกะเพรา ต่างกันที่กลิ่นและสีใบจะอ่อนกว่า มีลำต้นสูงประมาณ 30-80 เซนติเมตร มีกลิ่นหอมทุกส่วน ใบเดี่ยว ใบเรียงตรงข้ามเป็นคู่ๆ ดอกและช่อจะออกที่ปลายยอด อาจเป็นชื่อเดี่ยวหรือแตกออกเป็นช่อย่อยๆ ดอกจะบานจากล่างไปบน กลีบดอกสีขาวแบ่งเป็น 2 ปากและร่วงง่าย เกสรตัวผู้จะยื่นยาวกว่ากลีบดอก ดอกย่อยออกโดยรอบก้านก่อเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีดอกย่อย 6 ดอก แบ่งเป็น 2 ส่วน ดอกตรงกลางจะบานก่อนและช่อดอกย่อยที่อยู่ชั้นล่างสุดของก้านช่อดอกจะบานก่อนเช่นกัน ผล 1 ดอกมีผล 4 ผล มีขนาดเล็ก เรียกว่าเม็ดแมงลัก ซึ่งมีลักษณะกลมรีและมีสีดำ
ต้นแมงลัก ส่วนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ก็คือ เมล็ดแมงลัก และ ใบแมงลัก ซึ่งในส่วนของใบนั้นเรานิยมนำมาใช้ประกอบอาหารหรือใส่เครื่องแกงต่างๆ เช่น แกงเลียง เป็นต้น ส่วนเมล็ดก็นำมาใช้ทำเป็นขนมอื่นๆได้หรือนำไปผสมกับเครื่องดื่มก็ได้เช่น น้ำเต้าหู้ น้ำขิง น้ำใบเตย (โจ๊กก็ได้นะ) โดยสามารถรับประทานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และยังปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรอีกด้วย
Tip : วิธีสังเกตความแตกต่างระหว่างแมงลักกับโหระพาง่ายๆ ก็คือ ใบแมงลักจะเล็กกว่าใบโหระพา มีลำต้นสีเขียวอ่อนเกือบขาว ส่วนใบโหระพาลำต้นจะออกสีม่วงแดง เมื่อนำมาเทียบกันแล้วโหระพาจะต้นใหญ่กว่าแมงลัก และใบแมงลักจะเป็นรูปรีออกตรงข้ามกัน ปลายและโคนของใบแหลม ขอบใบเรียวหรือหยักมนๆ ซึ่งต่างจากใบโหระพาที่ขอบใบจะหยักเป็นฟันเลื่อยห่างๆ
แมงลัก แมกลักในประเทศไทยนั้นมีสายพันธุ์หลักเพียงสายพันธุ์เดียวนั่นก็คือ “ศรแดง” ที่เหลือก็จะเป็นพันธุ์ผสมหรือพันทาง ลักษณะของพันธุ์ศรแดงที่ดีนั้นใบต้องใหญ่พอดี ไม่เล็กเกินไป ดอกสีขาวเป็นชั้นๆ คล้ายฉัตร โดยข้อมูลจากกองโภชนาการกรมอนามัยระบุไว้ว่า แมงลัก 100 กรัมจะมี ธาตุแคลเซียม 140 mg. และมี วิตามินเอ 590.56 mcg. ที่สูงกว่ากะเพราและโหระพา แต่กรมส่งเสริมการเกษตรระบุว่ามี วิตามินเอ 9,164 IU และ วิตามินบี2 0.14 mg. ซึ่งน้อยกว่ากะเพราและโหระพา แต่มีวิตามินและแร่ธาตุอื่นๆที่สูงกว่า เช่น ธาตุแคลเซียม 350 mg. ธาตุฟอสฟอรัส 86 mg. ธาตุเหล็ก 4.9 mg. วิตามินซี 78 mg. และ วิตามินบี1 0.3 mg. เป็นต้น
สำหรับใครที่เพิ่งเคยรับประทานเม็ดแมงลักในช่วง 2-3 วันแรกอาจจะยังไม่เห็นผลเท่าไหร่อาจเป็นเพราะว่าร่างกายกำลังปรับตัว แต่หลังจากรับประทานไปสักระยะหนึ่งก็จะดีขึ้นเอง แต่ถ้าหากรับประทานไปสักระยะหนึ่งแล้วไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงก็ต้องกลับมาพิจารณาทีละจุดว่าเราใส่น้ำในเม็ดแมงลักน้อยเกินไปหรือไม่ ถ้าไม่ก็ให้ใสเยอะๆ หรือรับประทานอย่างถูกวิธีแล้วหรือไม่ (ควรรับประทานหลังอาหารเย็นประมาณ 3 ชั่วโมงกำลังดี) และคุณขับถ่ายในช่วงเวลาตี 5 ถึง 7 โมงเช้าหรือไม่ ถ้าไม่ก็จะได้ผลน้อย หรือคุณรีบร้อนเกินไป ใช้เวลาขับถ่ายน้อย พยายามเร่งเวลาในการขับถ่าย ก็ทำให้ร่างกายไม่ผ่อนคลายก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน ดังนั้นก็อย่างเพิ่งรีบท้อกันไปก่อนละ

ข้อควรรู้วิธีทานเม็ดแมงลัก

  1. เม็ดแมงลักการรับประทานเม็ดแมงลักในปริมาณมากๆ เกินไปอาจจะเกิดอาการแน่นท้องรู้สึกไม่สบายตัวได้
  2. การรับประทานเม็ดแมงลักในขณะที่ยังพองตัวไม่เต็มที่ อาจจะเกิดการดูดน้ำจากกระเพาะอาหารทำให้เม็ดแมงลักจับตัวกันเป็นก้อนและอุดตันในลำไส้ ซึ่งอาจทำให้ท้องผูกได้เช่นกันถ้ารับประทานแบบผิดวิธี
  3. ไม่ควรรับประทานเม็ดแมงลักพร้อมกับกับยาอื่นๆ เพราะจะมีผลทำให้ร่างกายดูดซึมยาเหล่านั้นได้ไม่ดีและน้อยลง ดังนั้นควรทานยาก่อนสักประมาณ 15-30 นาทีแล้วค่อยรับประทานเม็ดแมงลักตาม
  4. สำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก การรับประทานเม็ดแมงลักแทนมื้ออาหารหลักควรรับประทานเป็นบางมื้อ เพราะอาจจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นอื่นๆได้
  5. อีกสิ่งที่ต้องระวังไว้ก็คือ การเลือกซื้อ ควรเลือกซื้อเม็ดแมงลักที่มีความสะอาดได้มาตรฐานน่าเชื่อถือ อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดมิดชิด เก็บไว้ในที่เหมาะสม เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว อาจมีเชื้อราหรือสารพิษอย่างอะฟลาทอกซินปนเปื้อนมาด้วยก็ได้ (สารอะฟลาทอกซิน เมื่อบริโภคจำนวนมากอาจทำให้อาการท้องเดิน อาเจียน และสะสมเป็นสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ)
ประโยชน์ของเม็ดแมงลัก
  1. ประโยชน์ของเม็ดแมงลักเม็ดแมงลัก ลดความอ้วน เพราะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้ เพราะมีสรรพคุณในการเปลี่ยนคอเลสเตอรอลไปเป็นกรดน้ำดี และยังช่วยเพิ่มการขับออกของกรดน้ำดีด้วย ซึ่งจะไปลดเฉพาะคอเลสเตอรอลไม่ดี (LDL) แต่ไม่มีผลใดๆกับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL)
  2. เม็ดแมงลัก ลดน้ําหนัก ตัวช่วยสำหรับผู้ที่ต้องควบคุมน้ำหนักและความอ้วน เนื่องจากเม็ดแมงลักไม่ก่อให้เกิดพลังงาน และมันสามารถพองตัวได้มากถึง 45 เท่า !! เมื่อนำมารับประทานเป็นอาหาร (ควรรับประทานแค่บางมื้อต่อวัน เพื่อป้องกันโรคขาดสารอาหาร) หรือจะรับประทานก่อนอาหารเพื่อทำให้กระเพาะไม่ว่างและรู้สึกอิ่มเป็นการช่วยควบคุมปริมาณอาหารที่รับประทานไปด้วยเป็นอย่างดี สำหรับวิธีชงเม็ดแมงลักก็คือใช้เม็ดแมงลักประมาณ 2 ช้อนชานำมาแช่น้ำ 1 แก้วใหญ่ทิ้งไว้จนพองตัวเต็มนำมาผสมกับน้ำร้อน 1 แก้วที่แล้วนำมารับประทาน (หรือจะผสมกับน้ำผึ้ง น้ำสมุนไพร หรือนมก็ได้)
  3. เม็ดแมงลัก เมื่อรับประทานเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจได้อีกด้วย
  4. เม็ดแมงลักเป็นอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะช่วยทำให้การดูดซึมของน้ำตาลลดลง เนื่องจากเม็ดแมงลักทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ช้าลงอยู่แล้ว
  5. เม็ดแมงลักเป็นอาหารที่รับประทานง่าย กลืนง่ายลื่นคอและเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยรับประทานอาหารที่มีกากใยอย่างพวก ผักผลไม้
  6. ประโยชน์ของเม็ดแมงลัก ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้เป็นปกติและมีประสิทธิภาพ ขับถ่ายสะดวก
  7. เม็ดแมงลัก สรรพคุณล้างลำไส้ ช่วยดีท็อกซ์แก้ปัญหาอุจจาระตกค้าง ซึ่งเป็นสาเหตุมาจากการเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย มีพยาธิ ระบบย่อยอาหารผิดติ ระบบดูดซึมเสีย และขับถ่ายไม่เป็นเวลา (ช่วงเช้า 05.00 – 07.00 น.)
  8. เม็ดแมงลักสรรพคุณใบแมงลักช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะได้
  9. ใบแมงลักมีสรรพคุณในการช่วยขับเหงื่อ
  10. แมงลัก สรรพคุณช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ด้วยการใช้ใบสดมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วรับประทาน
  11. ใบแมงลักมีฤทธิ์ช่วยขับลมในลำไส้
  12. ประโยชน์ของแมงลักใช้เป็นยาระบาย กระตุ้นการขับถ่ายให้ดีขึ้น ด้วยการรับประทานเม็ดแมงลักก่อนเข้านอน
  13. ใบแมงลักต้มกับน้ำดื่มเป็นประจำช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้หรือทางเดินอาหารได้
  14. ใบแมงลักมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้
  15. รักษาโรคกลากเกลื้อน ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 10 ใบนำมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำมาตำผสมน้ำเล็กน้อย แล้วทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อนวันละ 1 ครั้งประมาณ 1-2 สัปดาห์อาการจะดีขึ้น
---------------------------------